หน้าหลัก > ข่าวและประกาศ > ประเภทของหลอดไฟ ข้อดี-ข้อเสียและการใช้งาน
ประเภทของหลอดไฟ ข้อดี-ข้อเสียและการใช้งาน
Images/Blog/ztZ2T3Vc-Blog03.jpg
เขียนโดย admin เมื่อ Thu 04 May, 2023
Like

    ความสว่างเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่มีความสำคัญต่อผู้อยู่อาศัย ดังนั้นตามสถานที่ต่าง ๆ และบ้านเรือนที่พักอาศัยทั่วไปจึงจำเป็นต้องติดตั้งหลอดไฟเอาไว้ เพื่อคอยให้แสงสว่าง โดยในปัจจุบันมีหลอดไฟมากมายหลายชนิดให้เลือกสรร ไม่ว่าจะเป็น หลอดไส้ หลอดตะเกียบ หลอดฟลูออเรสเซนต์ หลอด LED เป็นต้น หลอดไฟแต่ละประเภทมีการใช้งานและคุณสมบัติแตกต่างกันไป ซึ่งอาจทำให้หลาย ๆ คนเกิดความสับสนได้ ดังนั้นในวันนี้เรามีข้อมูลเกี่ยวกับหลอดไฟประเภทต่าง ๆ มาให้ทราบกัน

1. หลอดไส้ ( Incandescent )
    หลอดไฟชนิดนี้ ใช้กันมายาวนานกว่า 90 ปีแล้ว ระบบการทำงานของหลอดไส้คือ การทำให้กระแสไฟฟ้าจะไหลผ่านเส้นลวดเล็ก ๆ ที่อยู่ภายในหลอด เพื่อทำให้เกิดความร้อน ความร้อนนี่เองที่เป็นตัวจุดประกายไฟ และให้แสงสว่าง ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้หลอดไฟประเภทนี้ใช้พลังงานค่อนข้างมาก และเสื่อมสภาพเร็ว โดยมีระยะการใช้งานแค่ประมาณ 8 เดือน ดังนั้นในตอนนี้ผู้ผลิตจึงหันความสนใจไปที่การผลิตหลอดไฟแบบอื่นแทน และด้วยหลอดไฟที่มีอายุการใช้งานนานกว่า และประหยัดพลังงานมากกว่า หลอดไฟประเภทนี้จะถูกลดจำนวนการใช้งานลงเรื่อย ๆ และหมดไปในที่สุด

2. หลอดฮาโลเจน ( Halogen )
    หลอดฮาโลเจนนั้นเป็นหลอดที่มีการพัฒนาต่อยอดมาจากหลอดไส้ โดยทำการเติมสารกลุ่มฮาโลเจน ( เมทิลีนโบรไมด์ ) เข้าไปในหลอดไส้ เพื่อช่วยลดการระเหิดของขดลวดทังสเตน และเป็นการเพิ่มอายุการใช้งานให้ยาวนานขึ้น เมื่อเทียบกับหลอดไส้แล้วหลอดไฟฮาโลเจนจะมีอายุการใช้งานที่นานกว่า โดยมีอายุการใช้งานเฉลี่ยประมาณ 1,500 - 3,000 ชั่วโมง นอกจากนี้ให้ระดับความสว่าง และความถูกต้องของสีที่มากกว่า

3. หลอดก๊าซคายประจุความดันไอสูง ( HID : High Intensity Discharge )
    หลอดก๊าซคายประจุความดันไอสูงเป็นหลอดที่ให้ระดับความสว่างกว่าหลอดฮาโลเจนประมาณ 3 - 4 เท่า และมีอายุการใช้งานที่นานกว่า ซึ่งถ้าหากนำมาเปรียบเทียบกับหลอดไส้แล้วจะมีระยะการใช้งานมากกว่าถึง 20 เท่าเลยทีเดียว โดยหลอดก๊าซคายประจุความดันไอสูงมีแบ่งเป็น 3 ประเภทใหญ่ ๆ คือ หลอดแสงจันทร์, หลอดเมทัลฮาไลด์, หลอดโซเดียมความดันสูง

3.1 หลอดไอปรอทความดันสูงหรือหลอดแสงจันทร์ ( High Pressure Mercury Vapor Lamp )
    เป็นหลอดรุ่นแรก ๆ ของหลอดในกลุ่มที่ให้ความสว่างสูงเพื่อใช้สำหรับติดตั้งในที่สูงเช่น โรงงาน หรือคลังสินค้า ทำงานโดยใช้ไฟฟ้าแรงสูง กระโดดผ่านไอปรอทที่อยู่ในหลอดเพื่อให้เกิดแสงสว่าง, โครงสร้างจะประกอบด้วยหลอดแก้วควอตซ์ขนาดเล็ก ซึ่งบรรจุไอปรอทและขั้วไฟฟ้า ครอบด้วยหลอดแก้วบอโรซิลิเกตขนาดใหญ่ ซึ่งทำหน้าที่ป้องกันความร้อน และปิดกั้นรังสีเหนือม่วง ( UV ) ที่เปล่งออกมาจากไอปรอทพร้อมกับแสง หลอดไฟประเภทนี้มีสีของแสงที่เป็นสีขาวอมเหลือง หรือขาวนวล ซึ่งมีสีคล้ายกับแสงพระจันทร์คนไทยจึงนิยมเรียกว่าหลอดแสงจันทร์ มีค่า CCT อยู่ที่ 3,500-4,500K หลอดไฟแสงจันทร์นั้นจะต้องมีการอุ่นหลอด 4-10 นาทีเพื่อให้หลอดสามารถสว่างได้เต็มที่

3.2 หลอดเมทัลฮาไลด์ ( Metal Halide Lamp )
    หลอดนี้ถูกพัฒนาต่อยอดมาจากหลอดไอปรอทหรือหลอดแสงจันทร์ โดยการใส่ก๊าซกลุ่มฮาไลด์เข้าไปในตัวหลอดเพื่อเพื่มประสิทธิภาพการส่องสว่าง และยืดอายุการใช้งานให้ยาวนานขึ้น ให้ค่าความถูกต้องของสีที่ดีขึ้น หลอดเมทัลฮาไลด์เป็นหลอดที่ถูกนิยมใช้มากในสำหรับโคมไฟที่ติดตั้งที่สูงตั้งแต่ 5 เมตรขึ้นไป หากเป็นโคมไฟที่ติดตั้งที่สูงและหลอดไฟมีสีของแสง ขาวอมเหลือง ( 4000K ) หรือแสงขาว ( 6500K ) หลอดเมทัลฮาไลด์มีประสิทธิภาพค่อนข้างสูง 75-110 ลูเมนต่อวัตต์ มีค่าความถูกต้องของสีปานกลางถึงดี (CRI 60-80) อายุการใช้งาน 16,000-20,000 ชม.

3.3 หลอดโซเดียมความดันสูง ( High Pressure Sodium Lamp )
    หลอดไฟที่เราเห็นตามถนนหลวงทุกวันนี้ที่ออกเป็นสีเหลืองอมส้มนั้น หลอดไฟที่ใช้อยู่ภายในโคมล้วนเป็นหลอดโซเดียมความดังสูงทั้งสิ้น ภายในหลอดบรรจุก๊าซกลุ่มโซเดียมซึ่งเป็นตัวที่ทำให้แสงของหลอดประเภทนี้ออกมาเป็นสีเหลืองอมส้ม ( ไม่สามารถทำเป็นแสงโทนสีขาวได้ ) หลอดโซเดียมความดังสูงนั้นมีค่าประสิทธิภาพที่สูงมาก 80-140 ลูเมนต่อวัตต์ แต่มีค่าความถูกต้องของสีต่ำ ประมาณ CRI 25 ดังนั้นหลอดประเภทนี้จึงนิยมไปติดตั้งเพื่อส่องสว่างถนน ทางด่วนหรือพื้นที่ภายนอก ลานกว้าง สนามกีฬาต่างๆ ที่ต้องการความสว่างแต่ไม่ได้ต้องการค่าความถูกต้องของสีที่มากนัก

4. หลอดฟลูออเรสเซนต์ ( Fluorescent )
    หลอดไฟทรงแท่งยาวที่นิยมนำมาใช้งานในที่พักอาศัย โดยจะให้แสงสว่างมากกว่าหลอดไส้ถึง 5 เท่า อายุการใช้งานนานกว่าหลอดไส้ประมาณ 7-8 เท่าตัว โดยตัวหลอดมีไส้โลหะทังสเตนติดอยู่ที่ปลายทั้ง 2 ข้าง ของหลอด ผิวภายในฉาบด้วยสารเรืองแสง โดยมีการใส่ไอปรอทไว้เล็กน้อย หลักการทำงาน คือ เมื่อกระแสไฟฟ้าใหลผ่านปรอท จะคายพลังงานในรูปแบบรังสีอัลตราไวโอเลต เมื่อกระทบสารเรืองแสงที่ฉาบไว้ หลอดก็จะเปล่งแสงออกมา หลอดไฟฟลูออเรสเซนต์ถูกผลิตออกมาในหลายหลายรูปแบบเช่น หลอดทรงยาว ( Tubular Fluorescent ) ประเภท T10 T8 T5 ที่เราใช้กันทั่วไปตามบ้านที่เป็นหลอดนีออนยาว 1.2 เมตรและ 0.6 เมตร หรือในอีกรูปแบบหนึ่งที่เอาหลอดฟลูออเรสเซนต์ทรงยาวนั้นมาดัดแปลงโดยการขดเป็นเกลียวให้มีขนาดเล็กลงเพื่อนำมาใช้แทนหลอดไส้ ( Incandescent ) ให้อยู่ในรูปแบบของขั้วเกลียว E14 หรือ E27 ที่เราเรียนกันว่าหลอดคอมแพคฟลูออเรสเซนต์ ( CFL : Compact Fluoresecent ) หรือมีชื่อเล่นว่าหลอดตะเกียบหรือหลอดประหยัดไฟนั่นเอง

5. หลอดไฟ LED ( Light Emitting Diode )
     หลอด LED เป็นหลอดไฟที่มีเทคโนโลยีใหม่ที่สุดและมีประสิทธิภาพสูงที่สุดในปัจจุบัน ราคาของหลอดไฟ LED ค่อนข้างสูงกว่าหลอดไฟทั่วไปอยู่สักหน่อย แต่ถ้าหากนำมาเปรียบเทียบการใช้งานและคุณภาพแล้วถือว่าหลอดไฟแบบ LED คุ้มค่ากับราคาของมันอยู่ไม่น้อย เพราะหลอดไฟประเภทนี้สามารถเปิด-ปิดได้บ่อยครั้ง ไม่มีการเสื่อมสภาพไปตามจำนวนการกดสวิตช์ นอกจากนี้ไม่มีการปล่อยรังสียูวี หรือก๊าซอันตราย อีกทั้งยังให้แสงที่สบายตากว่าหลอดชนิดอื่น ที่สำคัญยังช่วยประหยัดพลังงานได้ถึง 70% เมื่อเทียบกับหลอดไส้แบบเดิม ๆ และมีอายุการใช้งานที่นานถึง 50,000 ชั่วโมงเลยทีเดียว

    คงเห็นกันแล้วว่าหลอดไฟแต่ละประเภทแตกต่างกันไปตามการใช้งาน ดังนั้นในการเลือกซื้อหลอดไฟนอกจากจะพิจารณาราคาของหลอดไฟแล้ว ควรจะคำนึงถึงอายุการใช้งาน และความเหมาะสมของหลอดไฟกับพื้นที่ที่จะนำไปติดตั้งด้วย เพื่อให้แสงสว่างเพียงพอต่อความต้องการ ไม่สลัวหรือสว่างจ้าจนเกินไป ใส่ใจกับการเลือกหลอดไฟสักนิดเพื่อการใช้งานที่คุ้มค่า

หมวดหมู่